วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คำแนะนำดีๆจาก ผศ.ชนินาฏ ลีดส์ เผื่อจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อไปนะ

คำแนะนำดีๆจาก ผศ.ชนินาฏ ลีดส์ เผื่อจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อไปนะ  ยิงฟันยิ้ม



อุปกรณ์สำคัญ

ก่อนจะเริ่มเรียนนะคะ สิ่งที่จำเป็นที่สุด สำหรับ การเรียนกฎหมาย ก็คือ ตัวบทกฎหมาย หรือที่เขาเรียกว่า ประมวลกฎหมายนั่นล่ะค่ะ ประมวลกฎหมาย ที่ต้องใช้ขณะนี้ ก็คือ ประมวล กฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ปพพ.) ควรเป็น ฉบับที่พิมพ์รวมกับ ประมวลกฎหมายอาญา (ปอ.) ด้วย ขาดไม่ได้เลยค่ะ ซื้อไว้ไม่เสียหลายค่ะ เพราะ ถ้าเผื่อขี้เกียจเรียนต่อไป (ล้อเล่น) ยังไงก็ ใช้ได้อยู่แล้ว ประชาชนคนไทย ต้องรู้กฎหมายนะคะ จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ส่วนประมวล กฎหมายฉบับอื่น ยังไม่ต้องรีบซื้อ ไม่ใช่ว่า กลัวว่า ท่านจะ เรียยนไม่จบนะคะ แต่กฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมาย วิธีพิจารณาความทั้งหลาย มักจะแก้ไขบ่อย ซื้อไปไม่นาน ก็อาจจะต้อง ซื้อใหม่อีกแล้ว

ตัวช่วย

นอกจากนี้ก็มีตัวช่วย (แค่ตัวช่วยนะคะ) ไม่ใช่สิ่งจำเป็น ก็คือ วารสารกฎหมาย สุโขทัยธรรมาธิราช ฉบับพิเศษ เล่ม 1 และ เล่ม 2 เหตุผล ก็คือ วารสารทั้ง 2 ฉบับ จะเน้น การแนะนำ การเรียนนิติศาสตร์ โดยเฉพาะ การตอบข้อสอบอัตนัย ซึ่งเป็นสาระสำคัญ ของการเรียนกฎหมายเลยค่ะ สิ่งที่จะได้รับจาก วารสารดังกล่าวโดยตรงคือ 1.วิธีการตอบข้อสอบอัตนัย 2.ประเด็นที่ มักจะออกข้อสอบอัตนัยค่ะ แต่ไม่ซื้อหาก็ไม่ว่ากัน อย่างที่บอกน่ะค่ะว่า มันแค่ตัวช่วย

ลักษณะชุดวิชา

ทีนี้ก็มาเริ่มที่ชุดวิชาเลยค่ะ ในแต่ละ ภาคการศึกษา นักศึกษาจะเลือก ลงทะเบียนเรียน ได้ไม่เกิน 3 ชุดวิชา (อย่าเพิ่งทำหน้าเศร้า) แต่ชุดวิชาของ มสธ.จะหนามาก เพราะแต่ละชุดจะมีหน่วยกิต ถึง 6 หน่วยกิตนะคะ และรวมวิชาย่อย ของมหาวิทยาลัยอื่นไว้หลายวิชา เช่น กฎหมายแพ่ง2 ของมสธ.จะประกอบด้วย วิชาหนี้1 หนี้2 และละเมิด (อ่านถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งหนาวนะคะ) ความหนาของหนังสือ ประมาณเล่มละ 1 นิ้วเศษ หรือประมาณ 400 หน้า จำนวนชุดละ 2 เล่มค่ะ อ่านกันสนุกสนานรื่นรมณ์ พอสมควร ถ้าท่านลงเกิน 3 ชุด อาจอ่านหนังสือไม่ทัน แต่อย่างไรก็ดี วิธีลัด สำหรับท่านที่ มีความจำเป็น ต้องเรียนจบแบบเร่งด่วน ก็อาจใช้วิธี ลงทะเบียน เรียนหลักสูตร สัมฤทธิบัตรเสริม ซึ่งใช้ข้อสอบชุดเดียวกันกับ ข้อสอบในหลักสูตรปกติ และลงได้ไม่เกินภาคการศึกษาละ 1 ชุด สอบผ่านแล้ว ก็สามารถโอนเข้า หลักสูตรปกติได้ค่ะ แต่ท่านที่ไม่ค่อยมีเวลา อาจารย์ไม่แนะนำ เสียดายเงินค่ะ นอกจากนี้ มสธ.ก็มี ภาคพิเศษด้วยนะคะ ภาคพิเศษลงเพิ่มได้อีก 1 ชุดค่ะ สรุปแล้ว การเรียนหลักสูตรปกติ ก็จะลงทะเบียนได้ ปีการศึกษาละ 7 ชุด ถ้าเพิ่มสัมฤทธิบัตตร ก็เป็น 9 ชุด ขอให้เลือกลงทะเบียน ตามความสามารถ และกำลังใจ และความจำเป็น และปัจจัยอื่นๆค่ะ

การลงทะเบียนภาคแรก

สำหรับภาคการศึกษาแรก คงจะต้องลงทะเบียน 3 ชุดวิชา คือ

วิชากฎหมายเบื้องต้น วิชานี้จะเป็นข้อสอบ ปรนัยทั้งหมด ไม่มีอัตนัย ข้อสอบปรนับจะมีตัวเลือก 5 ตัวเลือก จำนวนข้อสอบ 120 ข้อ โดยข้อสอบ จะออกทุกหน่วย (หนังสือทั่วไป เรียกว่าบท แต่ มสธ.เรียกว่าหน่วยค่ะ) หน่วยละ 8 ข้อ สอบซ่อมจะมี 100 ข้อ (น้อยกว่าสอบไล่)
วิชากฎหมายแพ่ง1
วิชากฎหมายอาญา1
ทั้ง กฎหมายแพ่ง1 และ กฎหมายอาญา1 จะมีข้อสอบปรนัย 60 ข้อ ออกข้อสอบจากทุกหน่วยๆละ 4 ข้อ และข้อสอบอัตนัยวิชาละ 3 ข้อๆละ 20 คะแนน รวม 60 คะแนน แล้วนำไปรวมกับปรนัย 120 คะแนน เสร็จแล้ว นำมาคำนวณเป็นร้อยละอีกที ข้อสอบอัตนัย มักจะออกจาก หน่วยเน้น โดยนักศึกษา สามารถโทร.ถาม หน่วยเน้นได้ที่ สาขาวิชานิติศาสตตร์ 025033602 (แต่โทร.ยาก เพราะผู้ใช้บริการจำนวนมาก) ในขณะเดียวกัน สาขาวิชาก็ จะแจ้งให้อาจารย์ ที่ไปสอนเสริมทราบ ไม่ส่งข้อมูลให้นักศึกษาโดยตรง (กลัวไม่มีใครไปเรียน)

วิธีการอ่านหนังสือ

ก่อนอ่านเอกสารการสอนชุด กฎหมายแพ่ง1 กับกฎหมายอาญา1 (อ่านกฎหมายเบื้องต้นก่อนได้) ขอให้นักศึกษา อ่านวารสารฉบับพิเศษก่อน (ถ้ามี) โดยเฉพาะตัวอย่างคำถามในวิชา แพ่ง1 และอาญา1 จะได้รู้แนวว่าปกติ เขาออกข้อสอบ ในประเด็นไหน เวลาอ่านหนังสือ จะได้จับประเด็นถูก
ขอแนะนำว่า ควรอ่านที่ละวิชานะจะได้ต่อเนื่อง และ ควรอ่านกฎหมายเบื้องต้นก่อน เสร็จแล้ว จึงอ่านกฎหมายแพ่ง 1 สุดท้ายค่อยมาอ่าน กฎหมายอาญา1 และนักศึกษาต้องจำไว้เสมอว่า กฎหมายแพ่งไม่มีโทษจำคุกหรือปรับ มีแต่เรียกค่าเสียหาย หรือสิทธิเรียกร้องธรรมดา (นักศึกษาบางคน อ่านอาญาก่อน แล้วสับสนว่า ผิดสัญญาจะติดคุกมั๊ย)
ก่อนจะอ่านหน่วยไหนนะคะ ควรจะดูคร่าวๆว่าหน่วยนั้นๆ อธิบายมาตราอะไรบ้าง ทั้งที่เป็นหัวข้อ และมาตราต่อเนื่อง แล้วโน้ตเลขมาตราไว้ ต่อมา จึงอ่านตัวบท ในมาตรานั้นก่อน แล้วจึงค่อยมาอ่านคำอธิบาย จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
เวลาอ่านคำอธิบายนะคะ เมื่อมีประเด็นไหนสำคัญ (โดยเฉพาะประเด็นที่ เกี่ยวข้องกับ ข้อสอบอัตนัย) ขอให้จดโน้ตสั้นๆไว้ในประมวล แต่ควรจดด้วยดินสอ เผื่อว่าในอนาคต เห็นว่ามันไม่สำคัญ จะได้ลบออกได้ และขอให้ระลึกไว้เสมอว่า ประมวลกฎหมาย ทุกฉบับจะ อยู่กับเราไปอีกนาน และมันจะมีค่า ก็ตรงข้อความ ที่เราจดลงไป โดยเฉพาะ (โดยเฉพาะอีกแล้ว) แนวฎีกา ซึ่งจะเป็น ตัวขยาย ความหมายของ ข้อความในกฎหมาย และใช้มาก ในกฎหมาย วิธีพิจารณา และกฎหมายอาญา เช่น ก.ใช้มีดฟัน ข. ถ้าฟันที่หัว ฟันที่คอ แทงที่หัวใจ แทงที่หน้าอก ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ เป็นกรณี ก.มีเจตนาฆ่า แต่ถ้า ก.ฟันที่แขน แทงที่ขา แทงเสร็จแล้ววิ่งหนีไปเลย เป็นกรณีเจตนาทำร้ายเฉยๆ ไม่มีเจตนาฆ่า (โทษเบากว่ากันเยอะ) เหตุที่เราต้องจด ฎีกาไว้ เพราะตัวจะ บทเขียนไว้สั้นๆ อ่านตัวบท เพียงอย่างเดียว เราก็จะตีความต่างกัน เช่น ก.แทงที่คอ ก.ก็จะอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่าเพราะ ข.มันไม่ตาย ส่วน ข.ก็จะบอกว่า ก.มีเจตนาฆ่าเพราะตนเกือบตาย ก็เลยต้องใช้แนวของ ศาลฎีกามาปรับ แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาคดี ของศาลก็จะฟังจาก พยานหลักฐานในแต่ละคดี ประกอบกัน เช่น ก.แทงที่คอก็จริง แต่แทงโดยไม่มีโอกาสเลือก ว่าจะแทงที่ไหน แทงไปเพื่อให้ ข.หยุดทำร้ายตน เป็นต้น (มีแค่ต้น ไม่มีใบและดอกนะตัวเอง อย่า ซีเรียส)
เวลาอ่านหนังสือ ขอให้ทำชาร์ทไว้นะคะ จะช่วยให้เราจำง่ายขึ้น ชาร์ทของเรา ไม่จำเป็น ต้องเหมือนกับคนอื่น ขอเพียง เราเข้าใจก็พอค่ะ
สุดท้ายนะคะ คือการจำตัวบทกฎหมาย ขอให้เลือกมาตราสำคัญๆ (เลือกจาก ตัวอย่างข้อสอบเก่า และคำอธิบาย ในเอกสารการสอน บางมาตราอธิบายแล้ว อธิบายอีก หรือโยงไป มาตราอื่นๆอีกมากมาย เช่น ปอ.มาตรา 59 สำคัญสุดๆๆๆ) แล้วจำหลัก ของมาตรานั้นๆ (จากชาร์ทที่เราทำไว้ ) เมื่อจำหลักได้ ค่อยมาจำตัวบท อาจารย์ไม่แนะนำ ให้ท่องตัวบท เพราะจำพลาด หรือถ้าหลุดไปประโยคหนึ่ง ก็จะหยุดไปเป็นวรรคเลย และ อย่าท่องเป็น นกแก้วนกขุนทอง ต้องจำหลัก และใช้ให้เป็นด้วย คิกซะว่า ตัวเราเป็นหมอ กำลังจำสูตรยา จำผิด คนไข้ก็ตาย เหตุที่ต้องจำตัวบท 1.ตัวบทกฎหมายคือเหตุผลของคำวินิจฉัยของเรา 2.เวลาสอบ ในระดับปริญญาตรี ตัวบทจะมีคะแนน ต่างหากจาก คำวินิจฉัยและธงคำตอบ ดังนั้นเวลาตอบ ข้อสอบอัตนัย ควรย่อหน้าและอาจใช้คำทำนองว่า "เรื่อง .... มีหลักดังนี้" หรือ "มีหลักว่า" อย่าใช้คำว่า "บัญญัติว่า" เพราะถ้า บัญญัติว่า คือเราต้องเขียนตัวบท 100% ทีนี้เวลาเขียนหลักกฎหมาย ไม่ต้องใส่เลขมาตราก็ได้ แต่พยายามใช้สำนวนที่ใกล้เคียงกับตัวบทมากที่สุด ไม่ต้องทุกคำ แม้ว่า การจำตัวบทได้ทุกคำ จะได้คะแนน 10 คะแนน แต่ถ้าผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็ได้คะแนน เฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ ตามแต่ใจความ จะเหลืออะไรให้ อาจารย์ผู้ตรวจ ให้คะแนน ปกติอาจารย์จะไม่ท่องตัวบท เอาแค่จำหลักๆ เพื่อเก็บสมองไว้จำมาตราอื่นๆ ที่เราต้องจำอีกมากมายและตลอดไปเลยล่ะ


จาก  http://www.thailandroad.com/chaninat/studylaw.htm โดย  ผศ.ชนินาฏ ลีดส์

ไม่มีความคิดเห็น: